CHORD ELECTRONICS : Mojo

CHORD ELECTRONICS : Mojo

Portable DAC/Headphone Amplifier

เครื่องเสียงดิจิตัลปัจจุบันนำพาความจริงหลายอย่างมาให้เราประจักษ์ โดยเฉพาะความจริงที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับพัฒนาการของคอมพิวเตอร์ในอดีต อาทิเช่น ความจริงที่ว่า สมรรถนะของเครื่องจะสูงขึ้นทุกสองปีเมื่อเทียบกับเครื่องอื่นๆ ที่มีราคาเท่าๆ กัน กับอีกพัฒนาการที่มาในทางเดียวกันกับคอมพิวเตอร์เป๊ะ.. นั่นคือ size doesn’t matter!

Design ภายนอก
ใครที่เห็นรูปของ ‘โมโจ้’ จากเว็บไซต์หรือแมกกาซีนมาก่อนจะเจอตัวจริง จะต้องประหลาดใจเหมือนผมที่พบว่าขนาดมันเล็กกว่าที่คาดมาก.. เล็กขนาดที่ว่า อุ้งมือของชายไทยร่างสัดทัดอย่างผมเกือบจะกำมันมิด รูปร่างภายนอกทรงสี่เหลี่ยมเหมือนซองบุหรี่แต่สั้นกว่า ความกว้างพอๆ กับซองบุหรี่ และ mojo หนากว่านิดหน่อย

น้ำหนักดีทีเดียว คือไม่ได้หนักมากสำหรับการพกพา แต่ด้วยขนาดที่เล็กกะทัดเมื่อเทียบกับน้ำหนักของมันแล้ว มันให้ “ความรู้สึก” ที่ดีขณะอยู่บนฝ่ามือ กระชับและรับรู้ได้ถึงความแน่นหนา บอดี้ทำจากโลหะสองชิ้นที่ประกบกันอย่างแนบเนียนแทบจะไร้รอยต่อ ตัวถังทั้งสองชิ้นจับยึดตรึงด้วยนอตหกเหลี่ยมตัวเล็กๆ จำนวน 8 ตัว ตัวถังชิ้นบนมีตัวอักษรชื่อยี่ห้อและชื่อรุ่นที่จารึกลงบนเนื้อโลหะด้วยเลเซอร์ เส้นสายคมและผนึกแน่น เส้นหักมุมฉากด้านยาวของตัวถังส่วนบนถูกปาดเว้าด้านหนึ่งซึ่งใช้จารึกชื่อยี่ห้อ ส่วนอีกด้านถูกปาดเว้าเป็นหลุม 3 หลุ่มที่ฝังลูกบอลใสๆ กลมๆ ไว้สามลูก มีสัญลักษณ์จารึกกำกับไว้บนผนังด้านข้างของตัวถังใต้ลูกบอลกลมๆ ทั้งสามลูก ให้ทราบว่าลูกหนึ่งทำหน้าที่เป็นสวิทช์เปิด/ปิดเครื่อง ในขณะที่อีกสองลูกที่เหลือทำหน้าที่เป็นวอลลุ่มในการเพิ่ม/ลดระดับความดังของเสียง

เมื่อผมทดลองใช้นิ้วลูบไล้บนลูกบอลใสๆ ทั้งสามลูก พบว่ามันสามารถเคลื่อนหมุนไป-มาในหลุมนั้นได้ แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการสั่งงาน การหมุนลูกบอลไม่ได้มีผลต่อการทำงานของฟังท์ชั่นที่มันถูกกำหนดไว้ ไม่ว่าคุณต้องการจะเปิด/ปิดเครื่อง หรือเพิ่ม/ลดระดับความดังของเสียง คุณต้องใช้วิธี “กด” ลงไปบนลูกบอลแต่ละลูกที่มีหน้าที่กำกับอยู่มันถึงจะทำงานได้ตามที่ถูกกำหนดไว้ อาทิ ลูกที่ใช้สำหรับควบคุมการเปิด/ปิดเครื่องนั้น กรณีที่ต้องการเปิดขึ้นมาจากสถานะปิด ให้กดลูกบอลลูกที่ควบคุมการเปิด/ปิดค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที ตัวเครื่องจะถูกกระตุ้นเข้าสู่โหมดการทำงาน ปรากฏแสงสว่างสีต่างๆ ขึ้นที่ลูกบอลทั้งสามลูก ซึ่งสีที่ปรากฏขึ้นมานี้ไม่ได้มีไว้ให้ดูสวยๆ แฟนซีเฉยๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้บอกความหมายเฉพาะ อย่างลูกที่ทำหน้าที่เป็นสวิทช์เปิด/ปิดเครื่องนั้น ขณะที่เครื่องถูกเปิดขึ้นมาแล้ว สีบนลูกบอลลูกนี้จะแสดงให้รู้ถึงอัตรา sampling rate ของสัญญาณดิจิตัลที่เข้ามาทางอินพุต โดยแสดงค่าแซมปลิ้งเรตเหล่านั้นออกมาเป็นสีที่ต่างกัน 10 สี เริ่มจาก สีแดง (44.1kHz), สีส้ม (48kHz), สีเหลือง (88.2kHz), สีเขียว (96kHz), สีฟ้า (176kHz), สีน้ำเงิน (192kHz), สีม่วงแดง (352kHz), สีม่วงน้ำเงิน (384kHz), สีม่วงอ่อน (768kHz) และ สีขาว (DSD) ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่จำเป็นต้องจดจำสีเหล่านี้เลย เพราะแค่ขอให้มันมีเสียงออกมากับไฟล์เพลงแทบจะทุกระดับแซมปลิ้งเรตก็แฮปปี้แล้ว ข้อดีคือทำให้ผมไม่ต้องพะวงเลยว่าไฟล์เพลงที่มีอยู่จะเล่นกับ mojo ไม่ได้ เพราะเท่าที่เห็นมันเล่นได้ “สูงกว่า” ระดับของไฟล์ที่ผมจะหามาเล่นกับมันได้ซะอีก

ส่วนลูกบอลอีกสองลูกที่ใช้ควบคุมวอลลุ่มนั้นก็มีสีเหมือนกัน ซึ่งทุกครั้งที่คุณกดลูกใดลูกหนึ่ง (+ หรือ -) สีของลูกบอลลูกนั้นจะเปลี่ยนไป ไล่จากสีน้ำตาล (เบาสุด) ไปหาสีขาว (ดังสุด) ระดับกลางๆ ของวอลลุ่มจะอยู่ประมาณสีเขียวถึงสีฟ้า

ผนังข้างด้านแคบของตัวถังที่เหลืออีกสองด้านมีเทอร์มินัลสำหรับการเชื่อมต่อติดตั้งไว้ให้ ด้านหนึ่งเป็นขั้วต่อแจ๊คหูฟังขนาด 3.5 mm ที่ให้มา 2 ช่อง สามารถเสียบหูฟังได้พร้อมกันสองอัน อีกด้านที่เหลือติดตั้งช่องต่อสำหรับรับสัญญาณดิจิตัล อินพุตมาให้ทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ coaxial (ผ่านขั้วต่อ 3.5 mm), TOSLINK (ผ่านขั้วต่อ optical) และ USB (ผ่านขั้วต่อ micro USB) และมีช่อง micro USB มาให้อีกหนึ่งช่องสำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ที่บรรจุอยู่ภายในตัวเครื่อง ซึ่งเวลาชาร์จแบตเตอรี่จะมีไฟดวงเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กับขั้วต่อ micro USB สว่างขึ้นให้รู้ว่าไฟกำลังเข้าชาร์จ และเมื่อชาร์จเต็มแล้วไฟจะดับลง…

Chord Electronics : mojo
เล็ก…พริกขี้หนู!
ตัวเล็กๆ จิ๋วๆ อย่างนี้.. แบตเตอรี่จะใช้ได้นานมั้ย.?? อย่าประมาทมันทีเดียวครับ เห็นเล็กๆ อย่างนี้ แบตเตอรี่ข้างในคงจะตัวไม่ใหญ่หรอก นั่นจริง.. แต่เผอิญว่า มันใช้แบตเตอรี่ลิเธี่ยม-อิออน โพลีเมอร์ (Lithium-ion polymer) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี่ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง คือใช้เวลาในการชาร์จต่ำแต่ให้พลังงานได้นานกว่าเทคโนโลยี่เดิมๆ ขนาดที่ใช้อยู่ในตัว mojo ชาร์จเต็มแค่ 4 ชั่วโมง แต่สามารถใช้ต่อเนื่องได้นาน 8-10 ชั่วโมง และรูเสียบไฟชาร์จให้มาเป็นขั้วต่อ micro USB จึงหาแหล่งชาร์จง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากขั้วต่อ USB-A ของคอมพิวเตอร์ หรือจากตัวชาร์จแบตเตอรี่ในรถยนต์ก็ได้ขอให้ปล่อยไฟเลี้ยง 1 Amp ก็พอ

ตัวเล็กๆ จิ๋วๆ อย่างนี้.. จะเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ได้เหรอ.? ขอประทานอภัยครับ! อินพุตของ mojo ตัวนี้ไม่ได้ใช้ชิปโปรเซสเซอร์สำเร็จรูปแบบทั่วไปที่มีความสามารถจำกัดในการตอบรับกับแบนด์วิธของสัญญาณดิจิตัล อินพุตนะครับ คุณ Rob Watts* คนออกแบบ mojo ตัวนี้ใช้วิธีเขียนซอฟท์แวร์ลงไปบนชิป FPGA ที่มีประสิทธิภาพสูง เขาจึงสามารถกำหนดแบนด์วิธของภาคดิจิตัล อินพุตให้เปิดกว้างสำหรับสัญญาณดิจิตัลที่เข้ามาได้สูงถึง 768kHz สำหรับฟอร์แม็ต PCM และรองรับได้สูงสุดถึงระดับ DSD256 สำหรับสัญญาณดิจิตัลฟอร์แม็ต DSD ซึ่งผมบอกคุณได้เลยว่า ภาคดิจิตัล อินพุตของ mojo ตัวนี้ “สูงกว่า” มาตรฐานเฉลี่ยของ DAC ที่มีอยู่ทั้งหมดในท้องตลาดทุกวันนี้ซะด้วยซ้ำไป.!

ไม่อยากจะย้ำเลยว่า external DAC แบบตั้งโต๊ะตัวเขื่องๆ หลายตัวที่ออกมาในขณะนี้ยังรองรับได้แค่ระดับ 384kHz (DSD128) เท่านั้นเอง..

* เขาคนนี้คือหนึ่งในพ่อมดดิจิตัลคนปัจจุบันที่ช่ำชองในการออกแบบ DAC (Digital Audio Converter) มานานนับสิบปี ตั้งแต่เริ่มต้นยุค digital audio โน่นเลย..

แม็ทชิ่ง + เสียงของ Mojo
ตัวเล็กๆ แค่เนี๊ยะ.. จะขับหูฟังออกเหรอ.?? ผมก็คิดอย่างนั้นในตอนแรกที่เห็นตัวมัน และยิ่งอ่านจากโฆษณาที่บอกว่า mojo ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในลักษณะพกพาร่วมกับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เล่นเพลง (DAP) ผมก็เลยคิดว่า กำลังขับในตัวมันไม่น่าจะเยอะ คงขับได้แค่หูฟังเล็กๆ เท่านั้นมั้ง..? เอาเข้าจริงแล้วถึงกับผงะครับ.!!

ครั้งแรกผมลองด้วยหูออนเอียร์ของ AKG รุ่น K420 ที่ผมคุ้นเคยและใช้งานได้ดีกับกำลังขับของสมาร์ทโฟน iPhone 6 ของผม ปรากฏว่า กำลังขับในตัว mojo อัดซะ K420 กระจายไม่เหลือความหนืดค้างอยู่เลย เสียงเบสหลุดลอยออกไปเป็นลูกๆ พอลองเปลี่ยนมาขับหูฟังอินเอียร์ Cardas รุ่น EM 5813 ก็หลุดกระจุยเหมือนกัน แนวเสียงออกมาลื่นไหล หนานุ่ม ตามสไตล์คาร์ดาสเป๊ะ ไม่มีคำว่า “บาง” ให้ได้ยิน..

ชักเอะใจ.. เสียงของ mojo ที่ขับหูฟังทั้งสองตัวข้างต้นมันไม่ได้แสดงอาการป้อแป้หรือทำท่าหนักใจอะไรออกมาให้เห็นเลย ดูมันไปได้สบายๆ กับทุกแนวเพลง ทุกแซมปลิ้งเรตของไฟล์ที่ใช้ ผมแค่สังเกตพบว่า เมื่อเล่นไฟล์ DSD เสียงจะเบากว่าตอนเล่นไฟล์ PCM นิดหน่อย ต้องชดเชยวอลลุ่มขึ้นมาเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะกำลังสำรองของ mojo มีอยู่เยอะ กดลูกบอลเพิ่มความดังขึ้นมาอีกแค่คลิก-สองคลิกก็เอาอยู่แล้ว เห็นทีต้องลองเอาหูฟังฟูลไซส์ดุๆ ด้านชาหนักๆ อย่าง Sennheiser : HD650 (อิมพีแดนซ์ 300 โอห์ม) ที่ผมใช้ประจำอยู่กับ DAC/Amp ตั้งโต๊ะมาให้ mojo ลองขย่มดูสักหน่อย ผลปรากฏ HD650 ก็ไม่เหลือ.! ถูก mojo กระทุ้งซะกระจาย เสียงหลุดกระเด็นออกไปรอบหัว เสียงทุ้มที่เคยหนืดๆ หน่วงๆ เกาะแหมะอยู่กับตัวไดเวอร์ถูกดีดกระเด็นออกมาแบบไม่เหลือคราบความดื้อด้านอีกเลย นี่ใช้วอลลุ่มแค่ไม่เกินสีฟ้าเท่านั้นเอง โอ้วว… ไม่น่าเชื่อ!!

จบจาก HD650 ก็มาถึง K712 และ K812 ของ AKG ซึ่งก็ไม่เหลือเหมือนกัน เสียงที่ถูก mojo ขับออกมามีความเปิดกระจ่างและเคลื่อนขยับตัวได้อย่างเป็นอิสระไปตามท่วงจังหวะของเพลงโดยไม่ปรากฏอาการเร่งหรือหน่วงช้าแต่อย่างใด เป็นอาการของเสียงที่แสดงให้เห็นว่าแอมปลิฟายควบคุมไดเวอร์ได้อยู่หมัด บอกตรงๆ ว่า ยิ่งฟังไปมากๆ แล้วผมอดที่จะทึ่งไม่ได้ เพราะประสิทธิภาพเสียงที่ได้ยินจาก mojo ตัวจ้อยนี้ มันไม่ต่างอะไรกับเสียงที่ได้จาก DAC/Amp หรือ ext.DAC + Headphone Amp แบบตั้งโต๊ะที่มีขนาดใหญ่กว่ามันมาก Rob Watts ทำได้ยังไง.? ผมลองกลับไปไล่เช็กสเปคฯ ทางเทคนิคของ mojo พบตัวเลขน่าสนใจตัวหนึ่ง นั่นคือ อิมพีแดนซ์ เอ๊าต์พุตที่ต่ำเตี้ยมากกว่าที่เคยพบมา แค่ 75mOhm หรือ 0.075 โอห์มเท่านั้น.. ไม่ถึงหนึ่งโอห์ม นั่นเท่ากับว่าความต้านทานขาออกต่ำมากๆ ทำได้ไง.?? อยากรู้ไปถาม Rob Watts เอาเองครับ อย่ามาถามผม.!

นอกจากเป็น DAC/Amp แล้ว คุณยังสามารถใช้ภาคปรีแอมป์ในตัว mojo ควบคุมความดังเพื่อใช้เอ๊าต์พุตของ mojo กับอินพุตของ active speaker ได้อีกด้วย วิธีการก็ไม่ยาก ขั้นแรกคือหาสายอะแด๊ปเตอร์ mini 3.5mm > RCA L/R มาหนึ่งเส้นแล้วต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากรูเสียบหูฟังของ mojo ไปเข้าที่ช่องอะนาลอก อินพุตของลำโพงที่มีภาคขยายในตัว (active speaker) ขั้นต่อไปก็เล่นเพลงจากแหล่งต้นทางที่คุณต่อไว้กับอินพุตของ mojo จะเป็นจากคอมพิวเตอร์, จาก iPad หรือจากอุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ก็ได้ แล้วอาศัยลูกบอลปรับวอลลุ่มบนตัว mojo ทำหน้าที่ในการปรับความดัง แค่นี้เอง ซึ่งจากที่ผมทดลองฟังผ่านชุดเครื่องเสียง desktop audio ที่ผมใช้งานอยู่ (อินติเกรตแอมป์ TEAC รุ่น AX-501 ขับลำโพง Totem Acoustics รุ่น KIN mini) ผมพบว่า วอลลุ่มของ mojo ใช้งานได้ผลดี ไม่ดร๊อปเสียง เกนขยายออกมาปกติ แสดงว่าเอ๊าต์พุตของ mojo กับอินพุตของ AX-501 แม็ทชิ่งไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เสียงออกมาหนานุ่มน่าฟัง รายละเอียดกระจ่างชัดกำลังดี ถ้าพยายามจะถามหาจุดอ่อนให้ได้ ผมก็คิดว่า ถ้าได้ทรานเชี๊ยนต์ไดนามิกที่พุ่งสดและฉับไวมากกว่านี้ พร้อมทั้งมี attack ที่รุนแรงมากกว่านี้อีกนิดจะดีมาก เสียงเครื่องดนตรีที่ได้ออกมาจะยิ่งเข้าใกล้ของจริงมากยิ่งขึ้น..

ตอนท้ายๆ ของการทดสอบ ทางตัวแทนจำหน่าย mojo คือบริษัท Deco2000 ได้ส่งสาย micro USB ของ Nordost รุ่น Purple Flare ความยาว 60 cm มาให้ทดลองใช้ร่วมกับ mojo แทนสาย micro USB สีดำๆ ที่แถมมาในกล่อง ผมได้ลองใช้ดูแล้ว สายของ Nordost เส้นนี้ให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่าสายแถมเยอะมาก รายละเอียดออกมามากกว่าเดิม โดยเฉพาะในระดับ micro detail ระยิบระยับไปหมด รวมถึงรายละเอียดของเสียงในส่วนที่มีระดับความดังต่ำๆ (Low Level Resolution) ปรากฏออกมามากกว่า เนื้อเสียงก็เนียนสะอาดมากกว่าสายแถมเยอะ ทราบมาว่าราคาสายเส้นนี้ก็ไม่ใช่น้อย แต่ได้ลองแล้วถอดไม่ออกเหมือนกัน เพราะยิ่งได้ฟังเอ๊าต์พุตของ mojo ผ่านหูฟังก็ยิ่งได้ยินอะไรชัดมากๆ พอเริ่มชินหูแล้วทดลองเปลี่ยนสายแถมกลับเข้าไปเท่านั้น เป็นเรื่องเลย..

นอกจากจะทดลองใช้งาน mojo กับคอมพิวเตอร์ windows และ Mac แล้ว ผมยังได้ลองฟัง mojo ด้วยการป้อนสัญญาณอินพุตจาก iPad Air 2 และ iPhone 6 ด้วย โดยเข้าทางช่องอินพุต micro USB ของ mojo ซึ่งผมเล่นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บน iPad Air 2/iPhone 6 ด้วยแอพพลิเคชั่น Onkyo HF Player และ Ne player ผ่านอะแด๊ปเตอร์ Lightning > USB เชื่อมผ่านสาย USB-A > micro USB ของ Nordost : Purple Flare เสียงออกมาดีมาก..! รายละเอียดออกมาเยอะแยะ เสียงนิ่งมาก ไม่วูบวาบเลย เสียงจากไฟล์ DSD หลายๆ อัลบั้มออกมาดีมาก ได้ทั้งความต่อเนื่องและความลื่นไหล เข้าใจว่าคงได้อานิสงส์มาจาก SSD บนตัว iPad/iPhone นั่นเอง..

สรุป
เราพูดถึงเสียงของไฟล์ไฮเรซฯ มาหลายครั้งแล้ว ที่จริงแล้ว ไฟล์ไฮเรซฯ เดินทางเข้าสู่อาณาจักรไฮไฟฯ มานานหลายปีแล้ว แต่เรากลับพบว่า ต้องใช้เวลานานมากกว่าที่เราจะได้สัมผัสกับประสิทธิภาพเสียงของไฟล์ไฮเรซฯ ที่เป็น “ตัวตน” ของมันจริงๆ!

ตลอดเส้นทาง 3-4 ปีในการทดสอบอุปกรณ์ประเภท DAC ยุคไฮเรซฯ เป็นต้นมา ผมสังเกตพบว่า ในระหว่างช่วงเวลานั้น มี DAC อยู่บางตัวที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเสียงที่ได้จากไฟล์ไฮเรซฯ เมื่อเทียบกับเสียงที่ได้จากการเล่นไฟล์ระดับ CD quality 16/44.1 ทั่วไปได้ชัด ซึ่งเป็น “ความแตกต่าง” ที่ชี้ไปในทิศทางที่สมเหตุสมผล นั่นคือ เสียงที่ได้จากการเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ออกมาดี (กว่า) มากเมื่อเทียบกับเสียงจากการเล่นไฟล์ PCM 16/44.1 ทั่วไป ทั้งๆ ที่เสียงที่ได้จากการเล่นไฟล์ PCM 16/44.1 กับ DAC ตัวนั้นจะออกมาดีมากๆ แล้วก็ตาม (ดีกว่ามาตรฐานของคุณภาพเสียงที่เคยได้รับจากการเล่นจากแผ่นซีดีผ่านเครื่องเล่นซีดีที่มีราคาพอๆ กับ DAC ตัวนั้น)

สาเหตุที่ทำให้ DAC ยุคเก่าๆ ส่วนมากไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพเสียงของไฟล์ไฮเรซฯ ออกมาได้เต็มที่ก็เพราะข้อจำกัดอยู่ที่ภาครับของอินพุตนั่นเองที่ยังมีแบนด์วิธไม่มากพอที่จะ “เปิดรับ” สัญญาณดิจิตัล อินพุตเข้ามาโดยไม่ทำให้เกิดปัญหาลดทอนคุณภาพของไฟล์ต้นทางลงไป..

เมื่อได้ยินการทำงานของภาค DAC ที่แปลงสัญญาณของไฟล์เพลงได้แบบ native จริงๆ จาก mojo ตัวนี้ ถึงค่อยกล้าสรุปได้อย่างมั่นใจว่า ไฟล์ไฮเรซฯ มันดีกว่ามาตรฐานซีดีเดิมเยอะมากจริงๆ ลองหาโอกาสหิ้วหูฟังตัวโปรดและเอาไฟล์ไฮเรซฯ ของคุณไปลองฟังกับ mojo ดูเถอะ แล้วจะรู้ว่าไฟล์ไฮเรซฯ มันดียังไง..!!

……………………………………………

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท Deco2000 Co., LTD.
โทร.0-2256-9700
ราคา : สอบถามตัวแทนจำหน่าย

** แยกใส่กรอบ **

CHORD ELECTRONICS Mojo
General Specifications
Input 1 x Micro USB (max.768kHz/32bit)
1 x 3.5mm Coaxial (max.768kHz/32bit)
1 x Optical TOSLINK (max.192kHz/24bit)
Output 2 x 3.5mm Headphone Jacks
Output Power@1kHz 600 Ohms = 35MW
8 Ohms = 720MW
Output Impedance 75MOhms
Dynamic Range 125dB
THD@3V 0.00017%
Battery Life 4 hours full charge / 8 hours playback
Support Music Files Formats PCM 24bit-32bit/44.1kHz-768kHz: WAV, AAC, AIFF, MP3 & FLAC
DSD(DoP): DSD64, DSD128 & DSD256
Dimensions 82mm(L) x 60mm(W) x 22mm(H)
Weight 180g

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *