รู้จักแอมป์ Class G… มีดีกว่าที่คิด
ในโลกของเครื่องเสียงไฮไฟเราคุ้นเคยกับคำว่าแอมป์ Class A และแอมป์ Class AB เนื่องจากเป็นที่นิยมเลือกใช้ของนักออกแบบส่วนใหญ่ แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความว่านั่นคือสองทางเลือกที่ดีที่สุด ก่อนอื่นเราไปดูกันว่าทั้งคู่มีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้าง
แอมป์ Class A เป็นทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาความเพี้ยนบริเวณรอยต่อของสัญญาณเสียงระหว่างเฟสบวกและเฟสลบใน Class A/B แต่ตัววงจรขยายเองมีประสิทธิภาพต่ำ มีพลังงานความร้อนสูญเสียในปริมาณมาก
ดังนั้นแอมป์ Class A จึงมักจะใช้ในวงจรขยายเสียงขนาดเล็กเช่น ปรีแอมป์หรือเฮดโฟนแอมป์ หรือไม่ก็เป็นแอมป์สำหรับขับลำโพงที่มีกำลังขับต่ำหรือค่อนข้างต่ำ รวมทั้งมีต้นทุนในการออกแบบและผลิตที่แพงกว่า
สำหรับแอมป์ Class AB ซึ่งเป็นที่นิยมใช้งานอยู่ในเครื่องเสียงไฮไฟส่วนใหญ่ที่เลือกใช้วงจรขยายเสียงแบบลิเนียร์ วงจร Class A/B นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่า Class A มาก หลักการทำงานคร่าว ๆ คือในช่วงที่ใช้กำลังขับในระดับต่ำ ๆ เช่น 3-5 วัตต์ ตัววงจรจะทำงานเหมือนเป็นแอมป์ Class A คือให้เสียงที่ดีกว่า แต่เมื่อวงจรใช้กำลังขับมากขึ้นมันจะทำงานเหมือนแอมป์ Class B คือมีความเพี้ยนที่สูงขึ้น
สำหรับแอมป์ Class G นั้นเป็นการออกแบบที่แก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด แต่การออกแบบนั้นค่อนข้างซับซ้อนกว่า มันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากหากว่าสามารถออกแบบทางวิศวกรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นวงจรขยายเสียงที่มีประสิทธิภาพสูง ให้เสียงที่สะอาด กระจ่างสดใสเป็นธรรมชาติ และมีพลังงานความร้อนสูญเสียในระดับต่ำ
รู้จัก Class G ให้มากขึ้น
เช่นเดียวกับรถยนต์แบบไฮบริด การออกแบบแอมป์ Class G ต้องใช้แหล่งพลังงานมากกว่าหนึ่งแหล่ง หากว่าลำโพงต้องการกำลังขับมากกว่าที่แหล่งพลังงานส่วนแรกสามารถให้ได้ แหล่งพลังงานส่วนที่ 2 จะเข้ามาเสริมเติมเต็มให้โดยทันที
เทคนิคการออกแบบเช่นนี้ทำให้ได้วงจรขยายเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงมาก พลังงานจะถูกนำไปใช้งานตามความจำเป็น เหมือนกับเครื่องยนตร์ที่มีเทอร์โบชาร์จเจอร์
ในอดีตหลักการทำงานของแอมป์ Class G อาจทำได้จริงไม่ง่ายนักเนื่องจากอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำยังมีข้อจำกัดอยู่มากทางด้านความรวดเร็วฉับไวในการทำงาน ถ้าเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบก็คืออาจเกิดปัญหาการตอบสนองที่ไม่ทันท่วงที หรือที่เรียกว่า “turbo lag” ขึ้นได้ ทว่าในปัจจุบันอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำมีความเร็วและประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นอุปสรรคสำคัญอีกต่อไป
แหล่งพลังงานหรือภาคจ่ายไฟส่วนแรกจะทำหน้าที่เมื่อแอมป์ทำงานด้วยกำลังขับในระดับต่ำ ซึ่งวงจรทำงานในโหมด Class A เสียงที่ได้จะมีความเพี้ยนต่ำ ขณะที่ภาคจ่ายไฟส่วนที่ 2 นั้นจะเข้ามาเมื่อแอมป์ต้องเพิ่มกำลังขับมากขึ้นตามความต้องการของการใช้งาน
การสลับแหล่งพลังงานตามสภาวะการใช้งานจริงเช่นนี้ส่งผลให้แอมป์ Class G เป็นแอมป์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าแอมป์ Class A และ Class A/B ขณะที่ยังคงให้คุณภาพเสียงที่ดีด้วยในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันเครื่องเสียง Arcam เป็นยี่ห้อที่เลือกใช้วงจรแอมป์ Class G ในเครื่องเสียงรุ่นใหม่ ๆ หลังจากที่ได้พัฒนาและวิจัยมานานหลายปี