ตู้ลำโพงนั้นสำคัญไฉน!!!

หลายครั้งที่ผู้คนเข้าใจผิดว่าลำโพงที่ดีคือลำโพงที่สามารถถ่ายทอดพลังเสียงโดยการส่งพลังงานผ่านตัวตู้ด้วยแรงสั่นสะเทือนที่เราสามารถสัมผัสได้ ทว่าในความเป็นจริงแล้วสำหรับลำโพงไฮไฟโดยเฉพาะในระดับไฮเอนด์เรื่องของตู้ลำโพงนั้นจะให้ความสำคัญกับ ‘ความนิ่ง’ และ ‘ความเสถียร’ มากกว่า

โดยปกติแล้วเมื่อตัวไดรเวอร์ของลำโพงทำงาน (โดยเฉพาะไดรเวอร์ความถี่ต่ำอย่างวูฟเฟอร์) ตู้ลำโพงซึ่งปกติก็มีการสั่นค้างด้วยความถี่ธรรมชาติของตัวตู้เองอยู่แล้วจะถูกกระตุ้น ทั้งจากการขยับเข้า-ออกของตัวไดรเวอร์เองหรือจากอะคูสติกของเสียงภายในตัวตู้ลำโพง ทำให้ผนังตู้ลำโพงเริ่มทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดเสียงที่แฝงตัวอยู่ภายในซิสเตม

ดังนั้นเสียงเพลงที่เราได้ยินได้ฟังจึงไม่ได้มาจากแค่ตัวไดรเวอร์ แต่ส่วนหนึ่งมาจากตัวตู้ลำโพงด้วยเช่นกัน การสั่นของผนังตู้ลำโพงโดยมากจะให้กำเนิดเสียงในช่วงความถี่หนึ่ง หรือในช่วงความถี่แคบ ๆ ช่วงหนึ่งซึ่งเป็นความถี่เรโซแนนซ์บริเวณใจกลางของผนังตู้นั้น ๆ ซึ่งเสียงดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับความกระจ่างของชิ้นดนตรีและเสียงร้อง สังเกตได้ชัดจากเพลงที่มีเสียงดับเบิ้ลเบสหรือเสียงเปียโน ซึ่งบางครั้งทำให้เสียงผิดเพี้ยนไปเสียจนเกิดเป็นโทนเสียงที่แปลกประหลาด

การสั่นค้างของตู้ลำโพงไม่เพียงแต่ทำให้โทนเสียงนั้นผิดเพี้ยนไป หากแต่ยังไปทำให้จังหวะของดนตรีผิดเพี้ยนไปด้วย ตัวตู้ลำโพงที่มีการสะสมพลังงานนั้นจะทยอยปลดปล่อยพลังงานเหล่านั้นออกมา เมื่อลำโพงมีการถ่ายทอดเสียงดนตรีตัวโน้ตถัดไปทว่าตัวตู้ลำโพงยังคงสร้างพลังงานเสียงของโน้ตตัวก่อนหน้าออกมา ส่งผลให้เสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความขุ่นมัว เสียงทุ้มที่เบลอไม่คมชัด แทนที่จะให้เสียงที่หนักแน่น, ฉับไว, สะอาด และสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของดนตรีออกมาได้ การสั่นค้างของตู้ลำโพงยังส่งผลประทบต่อเสียงกลาง ทำให้ได้เสียงที่ขนาดความกระจ่างชัดสดใส

ผลกระทบของการสั่นค้างที่ตัวตู้นี้จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของผนังตู้ลำโพง ผนังตู้ขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบกับเสียงมากกว่า การจัดการกับการสั่นค้างในตู้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่มักทำได้ยากกว่าลำโพงขนาดเล็กเสมอ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดลำโพงขนาดเล็กจึงมักจะให้เสียงที่มีมิติหรือโฟกัสของเสียงดีกว่าลำโพงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในกลุ่มลำโพงราคาประหยัด

นักออกแบบลำโพงส่วนหนึ่งแก้ปัญหาการสั่นค้างที่ตัวตู้ลำโพงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เพิ่มความหนาของผนังตู้ หรือใช้วัสดุที่ต่อต้านการสั่นค้างได้ดี โดยมากจะเลือกใช้ไม้อัด MDF (Medium Density Fiberboard) ที่หนา 3/4 หรือ 1 นิ้ว โดยเลือกใช้ความหนา 3/4 นิ้วกับผนังตู้ด้านที่อ่อนไหวกับการสั่นสะเทือนน้อยกว่าเช่น ผนังตู้ด้านข้างหรือด้านบน ขณะที่ด้านหน้าใช้ความหนา 1 หรือ 2 นิ้ว

บ้างก็เลือกใช้วิธีการคาดโครงภายในตัวตู้ลำโพงเพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับผนังตู้ ซึ่งนักออกแบบลำโพงแต่ละคนก็มีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างก็มีการทาด้านในตัวตู้ลำโพงด้วยวัสดุที่ช่วยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของวัสดุให้สามารถต่อต้านการสั่นค้างได้ดีขึ้น

นอกจาก MDF แล้วยังมีวัสดุบางประเภทที่ถูกนำมาใช้ทำตัวตู้ลำโพงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น หินอ่อนเทียม, อะลูมิเนียม, คาร์บอนไฟเบอร์, กระจก, ไม้แท้ หรือแม้กระทั่งคอนกรีต

ขณะที่เทรนด์การออกแบบลำโพงไฮเอนด์ยุคใหม่ก็ได้มีการเลือกใช้วิธีออกแบบตู้ลำโพงโดยการออกแบบตั้งแต่วัสดุที่นำมาใช้สร้างตู้ลำโพง ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือลำโพงยี่ห้อ Wilson Audio ลำโพงยี่ห้อนี้ได้พัฒนาวัสดุที่มีความเหมาะสมกับการออกแบบตู้ลำโพงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นลำโพงขนาดเล็ก ลำโพงขนาดใหญ่ ลำโพงสำหรับความถี่ต่ำ ความถี่เสียงกลาง หรือความถี่สูง โดย Wilson Audio ได้เรียกชื่อวัสดุเหล่านั้นเป็นชื่อเรียกต่างกัน เช่น วัสดุ X หรือวัสดุ M ซึ่งได้มาจากส่วนผสมของเซรามิกและเรซิ่น สามารถนำไปขึ้นรูปหรือตัดแต่งได้เหมือนกับโลหะ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนที่ได้รวบรวมมาจากการออกแบบลำโพงในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถเข้าใจเบื้องหลังด้านหนึ่งของการออกแบบลำโพงได้ดีขึ้น

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *