MQA อีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ Hi-Res Audio Streaming เป็นจริงได้
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการฟังเพลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของผู้คนในยุคนี้คือ รูปแบบของการฟังเพลง จากที่เราเคยเปิดฟังเพลงจากสื่อบันทึกเสียงอย่างแผ่นเสียง เทปคาสเส็ตหรือว่าแผ่นซีดี ยุคนี้เราก็หันไปฟังจากไฟล์เพลงในรูปแบบดิจิทัลโดยตรง
แต่ถ้าจะให้พูดตรงกว่านั้นคือ ผู้คนในยุคนี้ส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงจากการสตรีมมิง (streaming) มากกว่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยของ Gen Z และ Gen Alpha หลายคนไม่ปฏิเสธว่าการฟังเพลงแบบสตรีมมิงนั้นเป็นอะไรที่แสนสะดวกและตอบโจทย์คนในยุคนี้อย่างมาก
แต่สิ่งหนึ่งที่การฟังเพลงด้วยวิธีสตรีมมิงถูกตั้งคำถามอยู่เสมอนั่นก็คือเรื่องของ ‘คุณภาพเสียง’ เนื่องจากผู้ให้บริการสตรีมมิงชื่อดังส่วนใหญ่นั้นให้บริการสตรีมด้วยไฟล์ข้อมูลประเภทบีบอัดสัญญาณแถมยังมีบิทเรตในระดับค่อนข้างต่ำ เช่น Apple Music ที่ 256kbps, Spotify ที่ 320kbps
หากจะมีที่ให้บริการด้วยคุณภาพที่เหนือกว่านั้นก็อย่างเช่น Tidal ที่ผู้ใช้สามารถสตรีมได้ด้วยคุณภาพในระดับ lossless quality หรือเทียบเท่ากับเสียงจากแผ่นซีดี และปัจจุบันก็ได้มีหมวดหมู่การให้บริการสตรีมด้วยคุณภาพเสียงที่เหนือกว่านั้น นั่นคือไฟล์เสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio ในส่วนของ Tidal Master
MQA กับคุณภาพระดับมาสเตอร์ที่สตรีมได้ง่ายขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีกว่าไฟล์เสียงรายละเอียดสูงนั้น หากสตรีมกันโดยตรงจำเป็นต้องใช้บิตเรตในระดับสูงมาก เพราะยิ่งไฟล์นั้นมีความละเอียดมากขึ้น (สูงกว่า 16bit/44.1kHz) ไฟล์ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
แน่นอนว่าการสตรีมโดยตรงด้วยบิตเรตในระดับสูงนั้นเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้งานซึ่งจำเป็นต้องใช้หรือเชื่อมต่อกับ network ที่มีความเร็วสูงหรือใช้ปริมาณ data จำนวนมากในกรณีที่สตรีมผ่านเครือข่ายสัญญาณ mobile
สำหรับการสตรีมเสียงในระดับ Hi-Res Audio จาก Tidal Master นั้นเลือกใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดกว่านั้น นั่นคือเทคโนโลยีที่เรียกว่า MQA หรือ Master Quality Authenticated
MQA เป็นฟอร์แมตไฟล์เสียงดิจิทัลที่เข้ารหัสด้วยวิธีบีบอัดข้อมูลโดยการนำสัญญาณเสียงต้นฉบับระดับมาสเตอร์โดยตรงมาผ่านการ ‘จัดเก็บ’ ใหม่ ด้วยกระบวนการวิธีที่ทางบริษัทเมอริเดียนผู้คิดค้นฟอร์แมตนี้ออกมาอ้างว่า เป็นไฟล์บีบอัดข้อมูลยังคงสามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้ในระดับ lossless (ไม่มีการสูญเสียของข้อมูล)
วิธีการดังกล่าวเปรียบได้กับการพับกระดาษแผ่นใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง และเมื่อนำกระดาษพับทบนั้นมาคลี่ออก (unfolding) ก็จะได้กระดาษแผ่นใหญ่อันเดิมนั้นกลับออกมา
เมื่อต้นทางได้เข้ารหัสสัญญาณ MQA มาแล้ว (เปรียบเหมือนการพับกระดาษ) อุปกรณ์ปลายทางก็จำเป็นต้องถอดรหัส สัญญาณกลับออกมา (เปรียบเหมือนการคลี่กระดาษ) โดยปกติแล้วกระบวนการถอดรหัสย้อนคืนคุณภาพเสียงของไฟล์ MQA ที่เรียกว่า unfolding นั้นจะมีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน
การ unfolding ขั้นแรกจะเรียกว่า ‘core decoding’ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในแอปฯ เล่นเพลงหลาย ๆ แอปฯ เช่น Tidal, Roon, Amarra หรือ Audirvana รวมทั้งในแอปฯ TIDAL สำหรับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน Android และ iOS
สำหรับขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการทำ unfolding นั้นเรียกว่า ‘rendering’ ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาค DAC ในอุปกรณ์นั้น ๆ ตั้งแต่ต้น หมายถึงได้ถูกออกแบบมาด้วยกัน
ผลลัพธ์สุดท้ายของการถอดรหัสไฟล์ MQA จึงจะเป็นไฟล์ Hi-Res Audio เหมือนตามต้นฉบับ แต่มีขนาดไฟล์และบิตเรตที่ย่อมเยาพอ ๆ กับไฟล์เสียงในฟอร์แมตซีดี ง่ายต่อการดาวน์โหลดหรือสตรีมมาฟังสด ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การสตรีมไฟล์ Hi-Res Audioไปฟังสด ๆ ทันที ณ เวลานั้น สามารถทำได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะบิตเรตที่ได้ใช้เทียบเท่ากับการสตรีมไฟล์ lossless เท่านั้นเอง เช่น ใน Tidal Master เป็นต้น
ปัจจุบันมี DAC ที่รองรับไฟล์เสียง MQA อยู่หลายรุ่นด้วยกันที่สามารถถอดรหัส MQA ได้จนถึงขั้นตอน rendering ตัวอย่างของรุ่นที่ทาง Deco2000 เป็นผู้จัดจำหน่ายคือ Mytek Brooklyn Bridge, Mytek Brooklyn DAC+, Mytek Manhattan DAC II, Mytek Liberty DAC, dCS Vivaldi One, dCS Bartók ฯลฯ